Amour กำกับและเขียนบทโดยผู้กำกับ ไมเคิล ฮานาเก้ ที่เล่าเรื่องราวของคู่สามีภรรยาที่เป็นครูสอนดนตรีที่ใช้ชีวิตร่วมกันจนเข้าสู่ช่วงปลายของชีวิต แอน (เอ็มมานูเอล ริว่า) ภรรยาของจอร์จส (ฌอง หลุยส์ แทร็งติยอง) ได้ล้มป่วยลงด้วยอาการไม่ตอบสนองและทำให้แอนเป็นอัมพาตบางส่วน จอร์จสต้องรับหน้าที่ดูแลพยายามแอนที่อาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ
Amour เป็นหนังที่ถ่ายทำด้วยการวางกล้องทิ้งไว้แล้วปล่อยให้นักแสดงถ่ายทอดเรื่อง ราวออกมา มากกว่าจะใช้วิธีการเคลื่อนกล้องตามจับภาพของนักแสดงตามแบบฉบับทั่วไป ผลที่ได้คือความรู้สึกนิ่ง ราบเรียบ และการไม่ใส่ดนตรีประกอบเข้ามา ยิ่งช่วยเสริมให้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคำว่า ชีวิตในบั้นปลาย ดูสมจริงสมจังมากขึ้น! แต่นั่นก็ส่งผลให้จังหวะการเล่าเรื่องออกมาเนิบนาบ เชื่องช้า ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ชมที่ไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการนำเสนอแบบนี้ ผ่านช่วงเวลาในหนังไปด้วยความลำบากพอสมควร
บทสนทนาในเรื่องเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยถ่ายทอดความเป็นตัวตนของสามี ภรรยาวัยชราในเรื่องนี้ได้ดี บทสนทนาระหว่างแอนและจอร์จสเป็นบทสนทนาของสามีภรรยาที่ผ่านการใช้ชีวิตคู่มา อย่างโชกโชน ซึ่งไม่จำเป็นที่ต้องมีฉากที่แสดงถึงความรักมากมายอะไร แต่ใช้การแสดงออกเท่าไหร่ ซึ่งเพียงพอให้เราสัมผัสได้และเชื่อว่าพวกเขารักกันมากเพียงใด
หนังเปิดโอกาสให้เราทราบว่าสามีภรรยาทั้งสองได้รับการหยิบยื่นความช่วย เหลือ จากทั้งเพื่อนบ้านและลูกสาวที่แต่งงานไปมีครอบครัวของตัวเอง กับเหตุผลของการรับความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย จนถึงไม่รับความช่วยเหลือโดยเฉพาะจากลูกสาวนั้น เราก็พอจะเข้าใจได้ซึ่งเป็นเหตุผลจากการเลือกทำตามความต้องการของคนที่ตัว เองรักและอาจรวมถึงความดื้อรั้นตามวัยของผู้สูงอายุ
แม้หนังจะดำเนินไปด้วยความราบเรียบ แต่ในขณะเดียวกันผู้กำกับ ไมเคิล ฮานาเก้ ก็มีใส่ฉากบางฉากเข้ามาอันเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้ชมต้องมาตีความว่าผู้ กำกับต้องการสื่อถึงอะไร ฉากความฝันของจอร์จส ที่เขาต้องถูกมือลึกลับปิดปาก! คล้ายสื่อถึงความรู้สึกของจอร์จสที่ต้องการจะทำในบางสิ่งแต่มิอาจกระทำได้ คงไม่มีคนรักคนใดอยากเห็นคนที่ตัวเองรักต้องทรมาน แต่การทำตามความต้องการของคนที่ตัวเองรักก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พึงกระทำ กับอีกฉากที่นกพิราบหลงเข้ามาในบ้าน ที่สุดท้ายจอร์จสเลือกที่จะจับมัน ซึ่งฉากการจับนกพิราบสำหรับผมมันถือเป็นฉากที่สร้างรอยยิ้มและความน่ารักให้ กับหนังเรื่องนี้ และหากนกพิราบคือสัญลักษณ์ของอิสรภาพ การคว้าจับนกพิราบของจอร์จสก็คือการคว้าจับอิสรภาพหรืออาจเปรียบเปรยได้ดั่ง การปลดปล่อยดวงวิญญาณของทั้งสองให้เป็นอิสระจากสังขารอันไม่จีรัง มีจุดสิ้นสุด ไปสู่ความเป็นนิรันดร์ ไร้ขอบเขต
หนังเป็นเจ้าของฉากสะเทือนอารมณ์ 2 ฉาก ที่ทรงพลังและแสดงให้เห็นฝีมือทางการแสดงของนักแสดงอาวุโสทั้ง เอ็มมานูเอล ริว่า และ ฌอง หลุยส์ แทร็งติยอง ได้เป็นอย่างดี ทั้งฉากที่จอร์จสพยายามจะให้แอนดื่มน้ำเพื่อให้ภรรยาของเขามีชีวิตอยู่ได้ มันแสดงออกถึงความเหลืออดเกินจะทนกับการที่ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรภรรยาได้ กับอีกฉากหนึ่งที่ใครที่ชมแล้วคงจะทราบได้ทันทีว่าคือฉากใด ซึ่งเป็นฉากที่เราพอจะคาดเดาได้กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราได้เห็นมาโดยตลอด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นต่อหน้าก็อดที่รู้สึกใจหายวาบไม่ได้! ซึ่งเรามิอาจบอกได้ว่าการกระทำนั้นมันถูกหรือมันผิด มันขึ้นอยู่กับว่าเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองและสายตาแบบไหน
กล่าวโดยสรุป Amour คือหนังรักที่ไม่ใช่หนังรักตามแบบฉบับทั่วๆ ไป หรือเป็นงานที่ให้ความบันเทิง เพราะมันมีความเฉพาะทางในตัวเองหรือกล่าวง่ายๆ ว่ามันมีความอาร์ทในตัว ซึ่งอาจจะถูกจริตกับผู้ชมเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น แต่หากเรามองถึงคุณค่าของตัวหนัง ความตั้งใจในการถ่ายทอดให้เห็นถึงช่วงสุดท้ายในชีวิตของคน การแสดงออกถึงความรักอันสูงสุดที่คนรักพึงมีให้กัน รวมถึงการดูแลกันและกันจนวันสุดท้ายของชีวิต นี่คืองานคุณภาพที่ดูจริงที่สุดและซึมลึก ที่ทำให้คนที่เคยมีคนรักที่ต้องจากไป มีเสียน้ำตาในท้ายที่สุด?