ดอว์น เธออาศัยอยู่กับ ปีเตอร์ ผู้เป็นสามี บ้านไร่อันน่าอยู่ของพวกเขามีต้นมะเดื่อต้นใหญ่ตระหง่านอยู่หน้าบ้าน แต่ชีวิตอันปกติสุขของดอว์น ปีเตอร์และลูกๆ ต้องมีอันชะงักลง เมื่อปีเตอร์เกิดอาการหัวใจวายบริเวณต้นไม้หน้าบ้าน ดอว์นเสียใจจนแทบเสียศูนย์ และไหนจะต้องดูแลลูกๆ ทุกคนด้วยสองมืออันบอบบางของเธอเอง แต่วันหนึ่ง ซีโมน ลูกสาวคนเล็กของเธอมาบอกว่า วิญญาณของปีเตอร์ ผู้เป็นพ่อยังไม่หายไปไหน หากแต่ยังสิงสถิตอยู่ในต้นมะเดื่อต้นใหญ่หน้าบ้าน การได้รับรู้ความจริงข้อนั้น ทำให้ดอว์นต้องเลือกว่า เธอควรจะจมอยู่กับอดีตอันสวยงามของเธอและคนรักเก่า หรือเธอควรจะเดินหน้าไปสู่อนาคตกันแน่
The Tree เป็นผลงานชิ้นที่ 2 จากผู้กำกับชาวฝรั่งเศสอย่าง จูลี แบร์ตุชเชลลี ที่เคยคว้ารางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมที่ คานส์ ไปเมื่อหลายปีก่อนกับหนังสร้างชื่อของเขาอย่าง Since Otar Left โดยสำหรับหนังเรื่องใหม่ของเขาอย่าง The Tree ได้รับเลือกเป็นหนังที่ฉายปิดเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 2010 มาแล้ว เพราะฉะนั้นคงเป็นหนังที่สามารถการันตีความดีได้ในระดับนึงสำหรับคนดูที่ยังไม่มั่นใจ โดยสำหรับผมนั้น The Tree ถือได้ว่าเป็นหนังที่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับหนังจำพวก Melancholia และ The Tree of Life เพราะมันเป็นหนังแนวที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตในสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่า มนุษย์ ออกมาได้ในรูปแบบที่ค่อนข้าง อาร์ต และ นิ่งสุขุม แต่นุ่มลึก โดยถึงแม้ตัวหนังจะไม่ได้ออกมาในแนวปรัชญาจ๋าๆแบบ The Tree of Life เมื่อปีที่แล้ว ก็ตามที
แต่สำหรับ The Tree ก็ถือได้ว่าเป็นหนังแนวดราม่าที่สามารถนำเอาเรื่องราวการสูญเสียของมนุษย์ มาผูกเข้ากับเรื่องราวของธรรมชาติได้อย่าง สวยงาม โดยไม่ต้องพึ่งเรื่องงานการถ่ายภาพสวยๆแบบ The Tree of Life แต่ว่าตัวหนัง The Tree เป็นหนังที่สามารถถ่ายทอดความสวยงามเหล่านั้นมาสู่คนดูด้วย ‘อารมณ์’ ผ่านตัวละคร 2 แม่ลูกอย่าง ดอว์น และ ซีโมน ที่หนังสื่อสารกับคนดูอยู่ตลอดว่า ไม่ว่าเวลาใดก็ตามที่จิตใจของมนุษย์ถูกสั่นคลอนด้วยสิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความตาย ความเศร้า ความสุข สิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติ นี้แหละเป็นสิ่งที่สามารถจรรโลง และ บรรเทา จิตใจของเราได้ดีที่สุดมากกว่า คนเดินดิน
ผสมผสานไปด้วยเรื่องราวของประเด็นเกี่ยวกับ ชีวิต ของมนุษย์ โดยในขณะที่หนังแนวปรัญชาหลายๆเรื่องกำลังบอกกับคนดูว่า ชีวิตมันสั้นนัก อย่าต้องให้ชีวิตของเราเสียเวลาไปกับความเศร้าเลย แต่ใน The Tree กลับไม่ได้สื่อสารออกมาอย่างงั้น แต่หนังกลับสื่อสารกับคนดูในแนวหดหู่ที่ว่า ‘เรายังต้องอยู่กับชีวิตนี้อีกยาวนาน เพราะฉะนั้นเราจงลืม อดีต ที่ข่มขื่นให้จงได้ และเราควรที่จะยอมรับกับ ปัจจุบัน และจงเตรียมพร้อมกับ อนาคต ที่กำลังจะมาถึง ไม่ใช่มามัวนั่งจมปลักอยู่กับ อดีต จนทำให้ชีวิตยาวๆที่เหลืออยู่ไร้ความหมาย’ โดยถึงแม้ตัวหนังจะไม่ได้บอกคนดูแบบตรงๆ แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า คนดูจะรับรู้ได้โดย ‘อารมณ์’
ซึ่งอีกส่วนที่ทำให้ตัวหนัง The Tree รุ้สึกมีชีวิตชีวา และรู้สึกมีเสน่ห์ คงหนีไม่พ้นการแสดงของ ชาร์ล็อตต์ แกงสบูร์ก ที่คิดไปคิดมา ผมคิดว่าเธอเป็นนักแสดงที่น่าสงสารที่สุดในฮอลลีวู้ดแล้วรึปล่าว เพราะแต่ละบท แต่ละตัวละคร ที่เธอได้รับต่างมาในรูปแบบออกแนวตัวละครที่มีปม และมีเรื่องราวของการสูญเสีย อย่างเช่นใน Antichrist เธอต้องรับบทเป็น ภรรยา ที่สูญเสียลูก , ใน Melancholia เธอต้องรับบทเป็น หญิงสาวที่สูญเสียความสุข โดยใน The Tree เธอก็ยังต้องมารับบทเป็น ภรรยา ที่สูญเสียสามี และรับไม่ได้กับปัจจุบันอีกต่างหาก โดยผมคิดว่าการแสดงของ ชาร์ล็อตต์ แกงสบูร์ก ในเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ออกมาในแนวกระชากอารมณ์คนดูแบบ Antichrist แต่ต้องขอบคุณผู้กำกับที่ถ่ายทอดตัวหนังออกมาได้อย่างสวยงาม และทำให้ตัวละครเธอดูมีชีวิตชีวา